ปี 2020 นี้หลายๆ คนคงมองว่าเป็นปีที่แย่เพราะมีการระบาดของโควิด2019 ทำให้อะไรๆ ก็ติดขัดไปหมด ผมเองก็ติดขัดเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้แย่ขนาดไปต่อไม่ได้ ที่ผ่านมาทั้งปีผมเจออะไรนั้นเดี๋ยวเล่าให้ฟัง
ผมเริ่มต้นปีมาด้วยการใช้ชีวิตเป็น Entrepreneur เต็มตัวหลังจากลาออกจากงานที่สตาร์ทอัพเดิม แล้วเริ่มสตาร์ทอัพของตัวเองจริงๆ สักที ไม่จำกัดตัวเองในกรอบปัญหาด้านการลงทุนเหมือนที่เดิมแล้ว ในช่วงต้นปีก็มีการทดลองไอเดียหลายๆ อย่างอยู่หวังว่าเป็นธุรกิจได้ และได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านที่สกลและได้เที่ยวกับครอบครัวสักที และแล้วโควิดก็มาตอนแรกผมก็คิดว่ามันไม่หนักมากคงผ่านมันไปได้ ยังทำโปรเจคปั่นจักรยานในเกม GTA V ขำๆ อยู่เลยในช่วงกักตัว หรือทำแอพแชทไม่ใช้เน็ตสำหรับการชุมนุม ยังซิวๆ อยู่
แต่แล้วผมเกิดฝันไปเจออะไรสักอย่างที่ร้ายแรงมากๆ ตีความได้ว่ามีโรคระบาดร้ายแรงและไม่มีอะไรหยุดมันได้ผมเองสูญเสียคนใกล้ตัวไปหมด มันจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากโควิด ถ้าผมเป็น Batman ผมคงเริ่มจัดตั้ง Justice League หาตัวฮีโร่มาช่วยปกป้องโลกไปแล้ว แต่ผมเองตัวเปล่าไม่มีความรวยเป็นพลังพิเศษ มีอย่างเดียวคือความพยายาม ต้องทำอย่างอื่นแทน
ความคิดแรกคือโควิดเป็นโรคที่ป้องกันได้ง่ายมากๆ เพียงแค่ลดการใกล้ชิดกับคนอื่น ก็หยุดมันได้แล้ว เลยคิดจะทำแอพมือถือที่ช่วยนับว่าเราเคยเข้าใกล้คนอื่นเยอะแค่ไหนเพราะยิ่งเยอะก็ยิ่งก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อมาก เหมือนนาฬิกาที่นับก้าวเพื่อฟิตเนส โดยแอพจะใช้สัญญาณบลูธูทเพื่อการเช็คระยะของมือถือคนอื่นที่มีแอพอยู่ มีแจ้งเตือนถ้าอยู่ใกล้กันเกินไป มีคนบอกผมว่าที่สิงค์โปร์มีทำแอพอะไรแบบนี้โดยแทรคได้ว่าคนใช้แอพไปเจอกับใครใช้บูลธูทเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าความต่างจากไอเดียผมก็คือ อรรถประโยชน์ต่อผู้ใช้ เพราะแอพไม่ได้ให้อะไรกับผู้ใช้เลย เหมือนนับก้าวที่ผู้ใช้ดูข้อมูลเองไม่ได้ต้องไปหาหมอก่อนค่อยเปิดดูได้ และอีกทั้งข้อมูลทั้งหมดเข้าถึงได้จากรัฐบาลเท่านั้น แอพผมจึงออกแบบหมดจดไม่ว่าจะเป็น UX/UI และการเข้าถึงข้อมูล ผมตั้งชื่อแอพว่า WellMet หมายถึงการพบปะที่ดีงาม พร้องกับ well met ที่เป็นคำทักทายเมื่อเจอคนแปลกหน้าในภาษาโบราณ
ผมใช้เวลาต้นเดือนเมษาไปทั้งหมด 8 วันเพื่อทำแอพ WellMet ตั้งแต่ไอเดีย ออกแบบ UX/UI/Logo/วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ลงมือเขียนแอพแอนดรอย์เองจนเสร็จทุกฟีเจอร์ที่คาดว่าจำเป็น เป็น 8 วันที่ผมท๊อปฟอร์มที่สุดในชีวิตของผม ใช้ความรู้ความสามารถทั้งหมดที่ผมมีเพื่อให้แอพออกไปได้เร็วที่สุด แต่เมื่อถึงเวลาเอาขึ้น PlayStore เพื่อให้คนอื่นดาวน์โหลด กลับโดน Google ห้ามไม่ให้เอาขึ้นเพราะเป็นแอพเกี่ยวกับโควิดอาจจะให้ข้อมูลที่ผิดกับผู้ใช้ได้ถ้าจะเอาแอพขึ้นต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐเท่านั้น อีกทั้ง Google กับ Apple ร่วมมือกันทำเทคโนโลยี contact tracing ที่เหมือนกับของ WellMet ระดับเป๊ะๆ และไม่นานนักก็มีแอพหมอชนะและไทยชนะตามออกมาติดๆ WellMet เลยต้องหยุดไปก่อน
ด้วยความพยายามอยากแก้โควิดอยู่น้องเลยส่ง Hackathon ที่เป็นเกี่่ยวกับโควิดมาให้ลองดู ปรกติผมไม่ค่อยชอบ Hackathon เท่าไหร่เพราะส่วนใหญ่มันตื้นเขินไอเดียที่ชนะก็เพราะพรีเซนต์ได้ว้าวเฉยๆ อาจจะทำจริงไม่ได้ แต่ผมมีเองก็พอมีไอเดียอยู่บ้างในการแก้โควิดแบบทางอ้อมๆ เลยสมัครเข้าไป ไอเดียนั้นก็คือแอพรถพุ่มพวงนั่นเอง เอาไว้ดูเส้นทางและตำแหน่งของรถพุ่มพวงเพื่อแจ้งเตือนให้ออกไปซื้อของได้นั่นเองความต่างจาก delivery คือรถพุ่มพวงไม่จำเป็นต้องต้องไปส่งจุดต่อจุดต้นทุนการขนส่งน่าจะถูกกว่าและส่งเสริมอาชีพที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น ไม่ถูกกลืนจากธุรกิจทุนใหญ่ ไอเดียนี้ไม่ได้ใหม่ผมแค่หยิบมาลองแปลงร่างตามแบบความคิดของผมเท่านั้น ผมได้ใช้เวลาทำ Prototype ด้วย Adobe XD อยู่หนึ่งวัน ลองเล่นได้ที่ https://xd.adobe.com/view/e8bfd8fc-c6ea-430c-5ef3-23e554c217e6-9e8e/
แน่นอนว่าผมไม่สามารถทำ MVP ที่ใช้งานได้จริงในเวลาอันสั้นวันสองวันได้ เพราะมันต้องมีรถวิ่งจริงๆ
ทางผู้จัด Hackathon ได้จัดให้ส่งผลงานเป็นวิดีโอสั้นๆ อธิบายผลงานผมก็ส่งไปไม่ได้คิดอะไร
ผลคือได้รางวัล Innovation Grant 50,000 บาท จาก Denso เป็นอะไรที่ไม่คาดหวังมากๆ เพราะไม่ได้กะจะทำไอเดียนี้จริงจัง กะจะมาขายใอเดียให้คนอื่นลอกไปทำเฉยๆ อีกทั้งผมเองไม่มี Unfair Anvantage ในธุรกิจนี้เลย แต่ก็ใช้เวลาหลายอาทิตย์อยู่หา business model และเตรียมไปพรีเซนต์ตอนรับรางวัล
ในช่วงนั้นรัฐบาลก็ได้ออกแอพไทยชนะมาเพื่อแทรคโควิด ด้วยความที่ผมสังสัยว่ามันทำงานยังไงและมีจุดอ่อนยังไง ผมเองได้วิเคราะห์และเขียนบล็อกเอาไว้ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีแอพมือถือไทยชนะออกมาซึ่งก็โดนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีออกมาด่าเรื่อง privacy เพราะแอพขอ permission มากมาย ด้วยความที่ผมมีประสบการณ์พัฒนาแอพอยู่บ้างก็เลยรู้ว่า permission ต่างๆ ที่ขอไปนั้นมันขอเกินเพราะมีไลบรารี่ที่เปิดใช้เลยแกะแอพมาดูเลยว่าจริงแล้วแอพไทยชนะส่งข้อมูลอะไรกลับไปเก็บบ้างแล้วเขียนบล็อกเอาไว้ บล็อกที่เขียนเอาไว้นี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเข้าไปทำงานในธนาคารกรุงไทยในทีมที่ทำไทยชนะ เพราะว่ามีคนติดต่อเข้ามาบอกว่าจากทีมที่ทำไทยชนะแล้วอยากชวนไปทำงานด้วย ที่แรกผมค่อนข้างระแวงเพราะสงสัยจะเป็นคนมาปิดปากหรือเปล่าแต่ก็คุยไปก่อน หลังจากคุยสักพักเขาก็ชวนเข้าไปทำงานด้วย ผมนี่ไม่คิดมากเลยตอบตกลงเลยเพราะเป็นเรื่องที่อยากทำอยู่แล้ว ถ้ามีอะไรไม่ถูกไม่ควรจะได้แก้ไขปรับปรุงได้เองเลย
เริ่มมาทำงานกับกรุงไทยต้นเดือนพฤษภา ผมเข้ามาโดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับทีมงาน วิธีการทำงานไม่รู้แม้กระทั่งเข้ามาในตำแหน่งอะไร ในตอนแรกนี่ไม่ได้เซนต์สัญญาจ้างงานด้วยซ้ำ แต่เอาเป็นว่าให้ทำอะไรก็คงทำได้หมดแหละ ที่ทีมกรุงไทยอินโนเวชั่นนี่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ Golang Kubenetes React-Native ขาดอย่างเดียวคือคนที่จะทำงานกับมันจริงๆ เพราะที่นี่ดันเลือกใช้การเอาท์ซอร์คงานหลายๆ อย่างออกไปให้บริษัทอื่นทำให้ knowhow ต่างไม่อยู่ข้างใน อาจจะเป็นเพราะสร้างทีมเองไม่ทันที่จะรับงานใหญ่ๆ หลายๆ อย่างของภาครัฐ ไทยชนะเองก็เช่นกันพัฒนาโดยบริษัทเอาท์ซอร์คโดยมีกรุงไทยเป็นคนคุม ในช่วงแรกผมก็ได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่เขาใช้ก่อนๆ ด้วยความที่ถนัดด้านนี้อยู่แล้ว เลยเรียนรู้ได้ไม่ยากนัก งานแรกๆ ก็คือตรวจสอบดูคุณภาพโค้ดของแอพไทยชนะที่เอาท์ซอร์คทำมา และเริ่มปรับแก้ไปอาทิเช่นการขอ permission ต่างๆ การรองรับ deeplink จาก QR Code Notification ในแอพ การเพิ่มการเชคอินแบบกลุ่ม การเชคเอาท์ร้านอัตโนมัติเมื่อออกห้าง และที่ผมได้เริ่มทำเองจริงๆ ก็คือการจองร้านล่วงหน้าซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ผมไม่อยากทำเองมากๆ อยากให้ startup ที่มี solution อยู่แล้วอย่าง QueQ ได้ทำ ถึงกับช่วยติดต่อพี่โจ้ QueQ ให้เอง แต่เหมือนผู้ใหญ่คุยกันไม่รู้เรื่อง ผมเลยต้องทำระบบจองให้ไทยชนะ ซึ่งฟีเจอร์การจองก็สามารถใช้งานได้จริงแล้ว เพียงร้านเข้าไปเปิดใช้งานในเว็บจัดการร้านไทยชนะ แต่ไม่มีการโปรโมตให้คนใช้ฟีเจอร์นี้
งานไทยชนะเริ่มหมดลงเพราะไม่มีฟังค์ชั่นฟีเจอร์ใดๆ เพิ่มเข้ามาอีกผมก็เริ่มได้งานอย่างอื่นเข้ามาเช่น เราเที่ยวด้วยกัน ที่ไปช่วยซัพพอร์ตตอนระบบขึ้นแรกๆ และได้โอกาสทำสิ่งที่มีประโยชน์มากในภายหลังก็คือการเขียน Query ที่ใช้ถอดรหัสข้อมูลบน BigQuery นั่นเอง เพราะว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ระบบเก็บจะถูกเข้ารหัสทั้งหมด การจะเอาข้อมูลไปใช้งานนั้นจะต้องถอดรหัสเสียก่อน และการย้ายข้อมูลมากๆ มาประมวลผลข้างนอกนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนัก การ query ถอดรหัสได้เลยจาก BigQuery ได้เลยนี่เองเป็นอะไรที่ breakthrough มากๆ ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ในอินเทอร์เน็ตแทบไม่มีตัวอย่าง และเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยกันและล่าสุดนำไปใช้กับไทยชนะในตอนค้นหาแจ้งเตือนผู้เสี่ยงติดเชื้อ สแกนไทยชนะเถอะครับ ระบบยังทำงานดีได้อยู่ อาจจะช้าไปบ้างเพราะบางส่วนยังต้องเพิ่งพาคนทำงานอยู่
นอกจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันแล้วผมยังได้ช่วยทำระบบที่เรียกว่า common ที่เป็นระบบกลางให้โครงการอื่นๆ เชื่อมต่อเอาไปใช้งานได้ ระบบที่ผมทำได้แก่ระบบตรวจสอบบุคคลในรายชื่อฟอกเงิน(AML) ที่เอาไว้ป้องกันคนที่อยู่ในรายชื่อมารับเงินในโครงการต่างๆ ระบบนี้เป็นระบบที่ผมออกแบบไว้เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดๆ มากๆ ไม่ว่าจะคนใช้เยอะเท่าไร่ก็ตอบสนองได้ภายใน 5ms ที่เคยทดสอบได้มากกว่า 30k TPS ในกรณีที่เจอเท่านั้น ถ้าของจริงจะแรงยิ่งกว่านี้เพราะคนส่วนมากไม่อยู่ในรายชื่อ
อีกระบบนึงที่ผมช่วยทำเยอะมากก็คือ ระบบส่ง SMS กลาง ที่ใช้ในการส่ง SMS ในโครงการรัฐต่างๆ เช่น ไทยชนะ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง พวกขอ OTP ต่างๆ ผ่านระบบนี้หมด เพื่อไม่ให้ระบบ SMS Gateway ของผู้ให้บริการล่มต้องมีระบบนี้กั้นกลางเอาไว้ก่อน และตรวจสอบได้ว่า SMS ส่งถึงหรือไม่ ใช่แล้วครับการลงทะเบียนคนละครึ่งที่ OTP ของ DTAC ล่มมา SMS มาจากระบบนี้เอง แต่ไม่ใช่ว่าระบบนี้ทำงานผิดพลาดแต่อย่างใด ต้องบอกว่าคนใช้งานเยอะเกินกว่าผู้ให้บริการจะรับไหว
นอกจากระบบ common แล้ว กรุงไทยยังได้เปิดตัวบริษัทลูกใหม่ Infinitas by Krungthai ที่จะทำโปรดักค์แนวสตาร์ทอัพ ผมเข้าไปช่วยทำโปรดักด์แนว Uber for X อยู่ในช่วงสิ้นปี แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ โปรดักค์ MVP พัฒนาช้าเกินไป ถ้าจะทำ สตาร์ทอัพผมเลือกที่จะทำตามแนวทางของตัวเองดีกว่า ประกอบกับโควิดเริ่มส่างชาแล้ว เลยตัดสินใจลาออกตอนสิ้นปี ถึงโควิดจะกลับมาผมก็ไม่เปลี่ยนใจแล้ว ผมทำเท่าที่ผมจะทำได้แล้ว
นอกจากเรื่องงานแล้ว อย่างอื่นในปี 2020 ที่น่าสนใจก็ได้แก่ ผมเริ่มงานอดิเรกใหม่ๆ เช่น สะสมนาฬิกาข้อมือ เริ่มเห็นค่าของนาฬิกา Casio ที่ราคาหลักร้อย เริ่มเล่นเกมส์ Competitive FPS มากขึ้นอย่าง Apex Legend จากแต่ก่อนที่เล่นเฉพาะเกมส์ AAA RPG Puzzle RTS และ 4X
เจอแบรนด์นาฬิกาจีนที่สเปกดีมากดันไปคล้ายกับเกมที่เล่นด้วย ทำให้คิดว่าอยากทำแบรนด์นาฬิกาตัวเองเหมือนกันแล้วผลิตที่จีนต้นทุนน่าจะถูกๆ แต่คงต้องเรียนรู้เรื่องการตลาดออนไลน์อีกเยอะมากเลยที่เดียวก่อนจะทำได้
ด้านความรัก ยังคงเหมือนโสดเหมือนเดิม เพราะว่าไม่ผมเองไม่ค่อยชอบใครง่ายๆ และไม่ค่อยๆ ได้เจอคนที่หลากหลายมากนัก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเจอคนที่ถูกใจ ไม่ได้สานสัมพันธ์กับใคร เพราะอยากโฟกัสกับงานที่ทำให้มากที่สุดก่อน
ด้านการเงิน ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ไม่มีหนี้ ลงทุนเป็น แต่การไม่มีหน้าที่การงานที่มั่นคงในอายุวัย 31 เป็นเรื่องที่หลายๆ คนรับไม่ได้ แต่สำหรับผมไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก เงินหาได้เท่าไหร่ก็ใช้ชีวิตอยู่ได้ เพราะไลฟ์สไตล์ไม่ใช้ตังค์เยอะเลย อยากลองหลายๆ
ด้านสุขภาพ ปี 2020 นี้น่าจะถดถอย เพราะออกกำลังกายน้อยลงมาก ตอนปลายปีนี้แทบไม่ได้ปั่นจักรยาน น้ำหนักไม่ขึ้นนัก แต่เป็นแผลแล้วหายยากกว่าเดิมมาก เริ่มจ้องคอมนานๆ ไม่ไหวเหมือนเดิมแล้ว สงสัยต้องปรับไลฟ์สไตล์ใหม่
ปี 2020 ผ่านไปด้วยความพยายามอยากช่วยเหลือคนอื่น จนต้องยอมแลกอะไรหลายอย่าง ปี 2021 จะเป็นอย่างไรคงต้องค่อยๆ คิดกันต่อไป