ประสบการณ์การสร้างเครื่อง Hackintosh บนซีพียู AMD กับ 3 ระบบปฎิบัติการ 2 การ์ดจอ ใน 1 พีซี
ต้องเล่าก่อนว่าผมลาออกจากงานประจำมาเป็นนักพัฒนาอิสระได้สักพักนึงแล้ว คอมพิวเตอร์ที่ใช้ก็ประกอบขึ้นด้วยอุปกรณ์ใหม่ล่าสุดในท้องตลาดและแรงมากๆ ด้วย ซีพียู AMD R9 3900X 12 Cores แรม 32GB 3200Mhz พร้อม Nvidia RTX 2070 Super แมนบอร์ดกับซิงค์โอเวอร์คล็อคตัวท๊อปๆ โดยส่วนตัวจะใช้ PopOs Linux เป็นหลักในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้ง React-Native และ Back-end ด้วย NodeJS, Python และในเวลาว่างซึ่งไม่ค่อยจะมีก็จะเปิด Windows 10 มาเล่นเกมส์รวมทั้งตกแต่งรูปด้วย Adobe Lightroom และ Photoshop เป็นครั้งคราว ทำให้ลงสองระบบปฎิบัติการควบคู่กันไปได้เป็นอย่างดี
ปัญหามันมีอยู่ว่าจะอัพแอพที่พัฒนาเสร็จแล้วขึ้น AppStore แต่มันจำเป็นต้องใช้เครื่อง macOs เพราะว่าต้องการแคปเจอร์หน้าจอส่งให้แอพเปิลรีวิวหลายขนาดรวมถึงเทสแอพเองด้วย ถึงแม้ว่าแอพมันพัฒนาให้ครบทุกแพลตพอร์มและทดสอบบนมือถือ Android แล้ว แต่บางที UX มันอาจจะติดขัดบน iOS ทำให้ต้องสรรหาเครื่อง macOs มาลง Xcode และเปิด Simulator ลองกันอีกที วิธีแรกที่คิดได้คือเช่าเครื่องออนไลน์แต่ปัญหาก็คือมันต้องเป็นเครื่องที่ไม่มีคนอื่นใช้ด้วยเพราะคีย์ต่างๆ บัญชีแอพเปิลไอดีทำหลุดไปไม่ดีแน่ๆ อีกทั้งราคาของการเช่ามันไม่ได้ถูกเลยตกเดือนละห้าหกพันนี่ไม่ได้เครื่องสเปคดีๆ ด้วยนะ วิธีที่สองที่คิดขึ้นได้คือซื้อ MacMini ตัวใหม่ปี 2018 ราคาเริ่มต้นที่สองหมื่นแปด นับว่าเป็นราคาที่แพงพอสมควรเมื่อเทียบกับการจะใช้งานมันเพราะไม่ได้จะใช้มันบ่อยอาจจะไม่คุ้มราคาที่จะต้องจ่ายไป จะซื้อ Macbook ก็มีโน๊ตบุ๊คตัวแรงอยู่แล้วที่เพิ่งซื้อไปและ Macbook ราคามันไม่น่าคบหาเลย อีกทั้งมันได้ซีพียู Intel Gen 8 ที่บั๊คเยอะตามมาด้วย(Gen 9, 10 ก็ยังมีปัญหา) ทางเลือกต่อมาคือซื้อ MacMini มือสองปี 2014 เพราะเห็นได้จากที่บริษัทเก่าใช้ทำงานอัพแอพแบบเดียวกันได้อย่างไม่มีปัญหา ด้วยราคาแค่ 6,599 บาท ก็เลยลองเสี่ยงดูได้ MacMini 2014 ตัวถูกสุดมา แรม 4GB เป็น HDD 500GB อย่างช้า ปัญหาหลักคือเขาอัพเกรด macOs เป็น 10.15 Catalina ที่กินแรมหมดเป็นว่าเล่น แต่เปิดมาก็กินแรมไป 2GB เปิด simulator ก็รอไปครึ่งชั่วโมง พอเปิดแอพเราก็รันไม่ได้อีกค้างไปเลยก็เลยถอดใจ หาลู่ทางใหม่จนพบทางสุดท้ายคือลง Hachintosh
สำหรับคนที่ไม่รู้มาก่อนว่า Hackintosh คืออะไร ก็จะบอกให้ว่ามันคือการลง macOs ลงในเครื่องพีซีธรรมดาที่ไม่ใช่เครื่อง Macintosh จริงๆ จาก Apple เพราะ Mac รุ่นใหม่ๆ ใช้ซีพียู Intel เหมือนกับคอมทั่วไป แล้วทำไมจะลง macOs ในคอมธรรมดาไม่ได้ล่ะ หลายๆ คนทำ Hackintosh ก็ประสบความสำเร็จเพราะเลือกฮาร์ดแวร์ที่ใกล้เคียงกับเครื่อง Mac จริงๆ ตั้งแต่แรก แต่สำหรับคอมผมนั้นได้เลือกฮาร์ดแวร์จากความต้องการในการใช้งาน ความคุ้มค่า และประสิทธิภาพสูงสุดเป็นหลัก ไม่ได้สนใจว่าจะรัน macOs ได้หรือไม่ แต่ถ้าจะให้รัน macOs ก็จะเป็นอะไรที่ต้องมาขบคิดกัน
ซีพียูเป็น AMD ทำ Hackintosh ได้หรือเปล่าเพราะที่ผ่านมาไม่มี Mac ไหนเลยที่ใช้ซีพียู AMD ยิ่งซิพเซตตัวใหม่ในเมนบอร์ดที่ใช้งาน PCIe 4.0 จะใช้ได้ไหม แต่จากการหาข้อมูลก็พบว่ารันได้ไม่มีปัญหา
การ์ดจอ Nvidia RTX 2070 Super ที่ไม่มีไดรเวอร์รองรับใน macOs เลย ตัดทิ้งไปได้เลย คำถามต่อมาคือต้องซื้อการ์ดจอใหม่อะไรดี เนื่องจากว่าไม่ได้คิดใช้งาน macOs เป็นหลักเลย จะใช้การ์ดจอแรงๆ ตัดต่อได้เล่นเกมได้ก็ไม่จำเป็นเพราะมี RTX เปิดเข้า Windows ก็ใช้ได้แรงอยู่ดี จึงเลือกที่จะซื้อการ์ด AMD Readon RX570 4GB ของ Gigabyte มาเพราะราคาในเว็บ JIB มันถูกสุดของ RX570 ราคา 3,650 บาท มาเสียบเป็นการ์ดจอตัวที่สอง คำถามก็คือใส่การ์ดจอสองอันพร้อมข้ามค่ายมันจะเปิดเครื่องติดหรือเปล่า พาวเวอร์ซัพพายจะพอจ่ายไฟไหม และ PCIe 3.0 ที่ต้องแบ่งเป็น 8x สองอันแทนที่จะเป็น 16x จะทำให้การแสดงผลภาพกระตุกไหม ตอบได้เลยว่าเปิดได้แต่ตอนเปิดจะต้องไปเลือกที่ BIOS ว่าจะเอาออกการ์ดไหน แต่ใน Windows มันจะใช้ได้หมดเลยต่อสายจอไปที่ไหนก็ออกอันนั้นแหละ สุดท้ายแล้วพาวเวอร์ซัพพาย 850w Platinum ผมมันก็ไหวแบบเหลือๆ เพราะไม่ได้ใช้ไฟเต็มทั้งสองการ์ดพร้อมกันแน่นอน ส่วน PCIe 3.0 8x นั้นยังคงพอที่จะส่งข้อมูลจอภาพธรรมดา 60fps สบาย ส่วนถ้าจะต้องใช้ 16x มันคงต้องเป็น 4K HDR 240fps ถึงจะตัน เอาจริงๆ แล้วการ์ดจอมันไม่ไหวก่อนที่จะตันที่แบนด์วิท PCIe 3.0 8x ใครที่ข้องใจก็ไปดูผลเทสได้ที่ https://www.gamersnexus.net/guides/2488-pci-e-3-x8-vs-x16-performance-impact-on-gpus ทำให้ใส่สองการ์ดได้โดยไม่มีปัญหา
ลง macOs ที่ไหนดี ส่วนตัวผมไม่อยากไปแตะ Nvme SAMSUNG 970EVO 500GB ที่แบ่งเป็นสองระบบดีอยู่แล้ว และก็ไม่อย่างลง macOs ที่ HDD ธรรมดาด้วยเพราะว่ามันไม่ทันใจก็เลยสั่ง Nvme SAMSUNG 970EVO 250GB มาราคา 2090 บาท ลง macOs แยกกันไปเร็วๆ เลย
วิธีการติดตั้ง macOs บน AMD นั้นไม่ยากมาก เข้าไปทำตามขั้นตอนที่ https://vanilla.amd-osx.com/ แต่จะยากตอนที่มันมีปัญหา เพราะที่ผมติดเกือบวันเป็นเพราะว่าเลือก Kernel Extension (.kext) หรือที่รู้จักกันในนามไดรเวอร์มาใส่ไม่ถูกสักที เพราะที่มันหายไปได้คือไดรเวอร์ช่องกิกะบิตแลนทำให้ต่อเน็ตไม่ได้ ทำให้โหลด macOs มาลงไม่ได้อยู่ดี ไดรเวอร์ WiFi ที่มีในเมนบอร์ดยิ่งไม่ต้องพูดถึง มันเป็น WiFi 6 ที่ Mac ตัวเทพสุดยังไม่มีใช้เลย ใช้เวลาลองปลอมไดรเวอร์ตัวอื่นเข้าลองแทนนานมาก จนสุดท้ายไปหาเจอคนใช้เมนบอร์ด X570 Aorus Master รุ่นเดียวกันเลยได้ไฟล์ .kext ที่เขาแก้มาแล้วมาใช้เป็นอันว่าใช้ได้
สุดท้ายแล้วก็ลงสำเร็จก็ติดตั้ง XCode ลง Simulator ลื่นปื้ดเทสแอพและก็เจอปัญหากับ iOS จริงๆ เพราะมันไม่มีปุ่มกดย้อนกลับแบบ Android ทำให้ต้องแก้แอพใหม่ ถ่ายภาพหน้าจอส่งงาน Apple ริวิวได้ เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อยใช้เวลาราวสองวัน
อัพเดต
ตอนนี้ผมทำตัวอย่าง วิธีการติดตั้ง macOS Big Sur บนเครื่อง AMD แล้ว ลองไปทำตามดูได้เลยครับ
https://link.medium.com/hqGXT2nXLbb